บทความโดย ออทัมน์ สแตนนิช ผู้อำนวยการฝ่ายนักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์
ในยุคที่ธุรกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็วและเทคโนโลยี AI พัฒนารุดหน้าอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ปลายทางใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น AI PC หรือ GenAI Smartphone มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทวีคูณ และนั่นทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและการเงินอย่างมหาศาล
อุปกรณ์ปลายทางหรือ Endpoint Devices มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และสร้างขยะภายในองค์กรอย่างมาก เพื่อรับมือกับปัญหานี้ รัฐบาลทั่วโลกได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการจัดการอุปกรณ์ปลายทางและขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-waste อย่างยั่งยืน
จากรายงาน Global e-Waste Monitor ครั้งที่ 4 ขององค์การสหประชาชาติ เผยประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 753,000 ตันในปี 2565 โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการควบคุมและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
ผู้บริหารฝ่ายจัดการโครงสร้างพื้นฐานและฝ่ายปฏิบัติการ (I&O) ต่างให้ความสำคัญกับการจัดการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของอุปกรณ์ปลายทางมากขึ้น แต่มีอีกหลายคนยังไม่ตระหนักว่าการตัดสินใจในเรื่องการจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์ ตั้งแต่การจัดซื้อ-จัดส่ง ไปจนถึงการจัดการสินทรัพย์และการปลดระวางการใช้งานอุปกรณ์นั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการบริหารและจัดการความยั่งยืนด้านไอที
การตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์ที่ยั่งยืนส่งผลดีต่อธุรกิจรอบด้าน ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ยังปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัย เพิ่มความยืดหยุ่น ยกระดับความพึงพอใจของพนักงานและดึงดูดผู้มีทักษะความสามารถสูงให้มาร่วมงานกับองค์กร
การบรรลุเป้าหมายวงจรชีวิตอุปกรณ์ที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Device Life Cycle คือโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยบรรลุเป้าหมายนี้ ไม่ใช่แค่การลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และยืดอายุการใช้อุปกรณ์ให้ยาวนานที่สุด
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไอที หรือ IT Circular Economy เป็นแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ผ่านการออกแบบและจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วม
บริหารจัดการอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม (Existing assets)
องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน โดยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และประหยัดเงินได้ด้วยการจัดการอุปกรณ์ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนแรกคือการจัดทำรายการ แคตตาล็อกและระบุจำนวนอุปกรณ์ปลายทางทั้งหมดไว้อย่างละเอียด เมื่อมีรายการอุปกรณ์ครบถ้วน ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์จำนวนอุปกรณ์ต่อพนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานแต่ละคนได้รับการจัดสรรอุปกรณ์เหมาะสมต่อการใช้งาน และเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ได้อย่างเต็มที่
การลดขยะและลดการปล่อยมลพิษเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรทั่วโลก ดังนั้นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งคือการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมเพื่อทดแทนการผลิตใหม่หรือรีไซเคิล เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มี “ผลต่อการปล่อยคาร์บอน” และ “การใช้พลังงาน” นอกจากนี้ การผลิตใหม่หรือรีไซเคิลยังต้องใช้แรงงานและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการปลดระวางและจัดหาอุปกรณ์ใหม่
ยืดอายุอุปกรณ์ (Device life span)
องค์กรส่วนใหญ่กำลังยืดรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ให้กับพนักงาน โดยเฉลี่ยแล้วแล็ปท็อปจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ สี่ถึงห้าปี และอุปกรณ์เคลื่อนที่เปลี่ยนใหม่ทุกสามปี กลยุทธ์ “ยืดอายุอุปกรณ์” ช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประหยัดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอุปกรณ์ใหม่ ๆ
อายุการใช้งานอุปกรณ์อาจขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน (อาทิ ทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานผ่านมือถือ นั่งทำงานที่โต๊ะประจำหรือทำงานนอกสถานที่) หรือตามฮาร์ดแวร์และการใช้งานเฉพาะ โดยยึดข้อมูลการใช้งานและประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการเป็นปัจจัยกำหนดอายุการใช้งานอุปกรณ์ ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้องค์กรทราบว่าอุปกรณ์ใดที่ใกล้จะปลดระวางและต้องเปลี่ยนใหม่ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อคาดการณ์และสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รวมถึงฮาร์ดแวร์ชิ้นอื่น ๆ ที่เกิดการขัดข้องในแบบเชิงรุกได้
การรีไซเคิลวัสดุและส่วนประกอบอุปกรณ์มักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหลังใช้งานเกินห้าปี เนื่องจากอุปกรณ์เชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการสนับสนุนและการอัปเดตด้านความปลอดภัย และมีอัตราที่ส่วนประกอบจะทำงานบกพร่องสูงขึ้น มีประสิทธิภาพช้าลง สึกหรอตามรูปลักษณ์ และบริโภคพลังงานมากขึ้น
เวอร์ชวลเดสก์ท็อป (Virtual desktops)
ผลสำรวจล่าสุดของการ์ทเนอร์ยังพบว่า Desktop as a Service (DaaS) หรือโครงสร้างพื้นฐานเวอร์ชวลเดสก์ท็อป (VDI) นั้นติด 10 อันดับแรกของโครงการริเริ่มที่มีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุปกรณ์ไอที
พนักงานนั่งโต๊ะไม่ว่าจะทำงานจากออฟฟิศหรือที่บ้าน อาจไม่ต้องการใช้แล็ปท็อปเสมอไป แต่สามารถใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่ายได้ โดยบริการ Desktop As A Service หรือ DaaS ช่วยให้สามารถใช้ Thin Client ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางเพื่อควบคุมและประมวลผล ซึ่งก่อให้เกิดคาร์บอนจากการผลิตและการดำเนินการที่ต่ำกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้แล็ปท็อปหรือเดสก์ท็อป และยังมีอายุใช้งานยาวกว่า (หกถึงแปดปี)
อายุการใช้คอมพิวเตอร์สามารถขยายเพิ่มได้โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยระบบปฏิบัติการ Thin Client ซึ่งช่วยให้สามารถเปิดใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกันรวมถึงเครื่องพีซีที่นำมาใช้ใหม่ในเครือข่ายของ Thin Clients
การกำหนดค่าสถานะพลังงาน (Power state configurations)
ความเสถียรของอุปกรณ์ระยะยาวมักขึ้นอยู่กับว่าพนักงานนั้นดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างไร โดยแบตเตอรี่มักเป็นสิ่งแรกที่จะเสื่อมสภาพ ดังนั้นการลดการใช้พลังงานตลอดการใช้งานจะช่วยถนอมแบตเตอรี่และลดภาวะแบตเสื่อมก่อนเวลาอันควร
ตั้งค่าอุปกรณ์ให้ทำงานในสถานะพลังงานต่ำที่สุดเท่าที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น เปิดโหมดสแตนด์บายหรือโหมดสถานะพักเครื่องเมื่อไม่ได้ใช้งาน และเปิดใช้งานฟีเจอร์ประหยัดพลังงานอื่น ๆ โดยองค์กรควรกำหนดให้พนักงานทำแบบเดียวกันทั้งหมด
อุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงเสมือนใหม่ (Refurbished equipment)
พนักงานที่ไม่ต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ให้พิจารณาใช้อุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงเสมือนใหม่แต่คงประสิทธิการใช้งานเดิมไว้ มีรายงานที่มากขึ้นว่าบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงอย่างมากจากแนวทางนี้ ช่วยให้ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้น โดยความสัมพันธ์กับผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ยังช่วยลดปัญหาห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วยแหล่งทรัพยากรที่มีการแข่งขันน้อยลง
เพื่อควบคุมต้นทุน, การปล่อยมลพิษ และศักยภาพในการลดขยะของผลิตภัณฑ์ที่ปรับปรุงเสมือนใหม่อย่างปลอดภัย ต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการมีใบรับรองคุณภาพสิ่งแวดล้อมเฉพาะ สามารถต่อรองการส่งคืนสินค้าและมีกลยุทธ์การรีไซเคิล นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์ เฟิร์มแวร์ ไดรเวอร์ และการอัปเดตได้อย่างครอบคลุมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและปัญหาความปลอดภัยตลอดอายุการใช้งาน รวมถึงการรับประกันที่ขยายเวลาออกไป
การจัดหาอุปกรณ์ (Device procurement)
ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์หลักเพื่อพิจารณาการจัดซื้อ ตั้งแต่ผู้ขายว่ามีการแชร์ข้อมูลประสิทธิภาพความยั่งยืนอย่างโปร่งใสหรือไม่ หรือมีการเลือกบรรจุภัณฑ์จัดส่งอุปกรณ์อย่างมีความรับผิดชอบ มีฉลากการรับรองประสิทธิภาพสิ่งแวดล้อมหรือ Ecolabel Certifications และมีการระบุข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ชัดเจน เพื่อใช้ทดสอบขั้นพื้นฐานสำหรับเปรียบเทียบแล็ปท็อป และพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงคำนวณปริมาณการใช้พลังงานมาตรฐานภายในสภาพแวดล้อมการทำงานในองค์กรเป็นการเฉพาะ
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาประเมินคือแนวทางของบริการด้านการจัดการอุปกรณ์หรือ Managed Device Life Cycle Services (MDLS) และการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาทำงานหรือ Bring Your Own Device (BYOD) โดย MDLS นั้นช่วยรับประกันว่าการติดตาม การจัดการ และการกำจัดอุปกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ขาย ขณะที่ BYOD จะช่วยลดภาระภาพรวมของอุปกรณ์ที่องค์กรต้องดูแลที่ต้องระบุไว้ในการรายงานและถูกประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางนี้สามารถช่วยให้องค์กรลดการเพิ่มอุปกรณ์ปลายทางใหม่ได้อย่างมหาศาล