ถ้าพิมพ์คำว่า p-rnhub ในเว็บเบราเซอร์ (จะกี่เจ้าก็ตาม) ก็จะเจอตัวหนังสือสีแดงๆ บนแถบแอดเดรสบาร์แบบนี้ … Not Secure หรือบนหน้าเว็บก็จะขึ้นป้ายว่า เนื้อหานี้ถูกระงับ This content has been suspended และก็ไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นล้าน ๆ ในประเทศไทย (ทุกเพศและวัย) ที่หาทางเข้าเว็บนั้นได้ และไม่ใช่เพียงแค่ดูเท่านั้น แต่รู้ลึกไปกว่านั้นอีกว่าในคอนเทนต์ในเว็บนั้นมีอะไรบ้าง มีฟิลเตอร์หรือตัวกรองอยู่ตรงไหนที่จะให้คนดูได้ผลลัพธ์เป็นแนวหนัง Genre ที่เราชอบ (เอาจริงๆ ตัวกรองของ Netflix ยังใช้ไม่ง่ายขนาดนี้เลย)
ทุกปีมี Stat ตัวนึงที่น่าสนใจและเมื่อปี 2019 (วันที่เขียนยังหาสถิติ 2020 ไม่พบ — เอ๊ะหรือถูกปิดกั้น) เป็นตัวเลขที่ประเทศไทยอยู่ในสิบอันดับแรกของโลกด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าอะไร… “ไม่เกินความสามารถถ้าจะหาจริงๆ” ใช่หรือไม่
ในอีกโลกหนึ่งของคนใช้อินเทอร์เน็ตค้นเว็บ เข้าเพจหรือใช้แอพซื้อของออนไลน์ เรารู้ทันทีว่าต้องหาที่ไหน ใช้คำว่าอะไร เปรียบเทียบข้อมูล (ทั้งราคา เวลาจัดส่ง โปรโมฯ) ข้ามเว็บ ระหว่างเพจหรือข้าม แอพด้วยซ้ำ
แต่ทำไมเวลาเราต้องค้นคว้าหรือหาข้อมูลมาใช้เพื่องานเขียนหรือเพื่อประกอบพรีเซนเทชันหรือกับสร้างเนื้อหาอื่น ๆ เรากลับมึน หาวิธีค้นคว้าเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือมากพอ หรืออย่างน้อยพอจะอ้างอิงได้ มาประกอบการทำงานของตัวเองไม่เจอ ถ้าอธิบายจากประสบการณ์ก็น่าจะเป็นเพราะว่า
“ความสนใจต่อเรื่องนั้น ๆ ของเรายังไม่เข้มข้นพอหรือเปล่า?”
เมื่อ Google เป็นประหนึ่งสรณะ (อยากรู้ความหมายของคำนี้ค้นได้จาก Google) การค้นหาข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศไทย เทคนิคการค้นข้อมูลที่มีคนมาเผยหรือมาแนะนำกันมากมายนั้นเป็นคนละเรื่องกับตรรกะการค้นหาที่ผู้เขียนได้นิยามให้กับตัวเองว่า “ถามให้ตรงคำตอบ” ซึ่งเรื่องนี้เป็นอัตตะวิสัย (อยากรู้ความหมายของคำนี้ค้นได้จาก Google) ของแต่ละคนจริง ๆ เพราะต้องอาศัยการใช้เทคนิคค้นประกอบกับความสนใจบวกกับประสบการณ์หรือบางกรณีอะไรที่แว่บผ่านมาให้เราได้รับรู้ก็สามารถเอามาใช้ได้
ยิ่งคุณค้นมากเท่าไหร่เทคโนโลยีทุกวันนี้ก็จะเรียนรู้จากคุณมากขึ้นว่าคุณต้องการอะไร เหมือนการเลือกเมนูอาหารบนแอพส่งอาหาร เหมือนการเปรียบเทียบเสปคโทรศัพท์จากสารพัดรีวิว เหมือนการเลือกที่พักจากเว็บจองโรงแรม และคุณก็จะพบว่ายิ่งค้นยิ่งเจอ ยิ่งได้อะไรใหม่ ๆ อีกมากมาย โน่นก็ใช่! นี่ก็ใช่! จนบางครั้งได้มากเกินความจำเป็นและต้องใช้เวลากรองข้อมูลที่ใช่จริง ๆ มากขึ้น
คำถามคือคุณได้เรียนรู้อะไรจากการค้นหาที่ผ่าน ๆ มาบ้าง เพื่อให้เจอหนังแนวที่คุณอยากดู
ภาพประกอบ: พอร์นฮับ